สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

ผู้เช่าซื้อหรือลูกหนี้ตายเจ้าหนี้ต้องฟ้องคดีภายใน1ปี

            ทายาทของเจ้ามรดกหรือผู้ตายต้องทราบข้อกฎหมายเรื่องนี้  ซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัวของทุกคน  การที่เจ้ามรดกหรือผู้ตายได้ทำการเช่าซื้อรถยนต์ไว้กับไฟแนนซ์หรือบริษัทให้เช่าซื้อรถยนต์หรือทรัพย์สินอย่างอื่นที่ท่านเช่าซื้ออยู่  เมื่อผู้เช่าซื้อถึงแก่ความตาย  บริษัทไฟแนนซ์ต้องฟ้องผู้เช่าซื้อที่ถึงแก่ความตายภายใน  ๑  ปี  นับแต่ทราบว่าผู้เช่าซื้อถึงแก่ความตาย  แต่ไม่เกิน  ๑๐  ปี  นับแต่วันที่ผู้เช่าซื้อถึงแก่ความตาย  หากพ้นระยะเวลาที่กล่าวไว้ข้างต้น  ย่อมส่งผลให้บริษัทไฟแนนซ์จะฟ้องคดีกับเจ้ามรดกเป็นอันขาดอายุความได้ ทั้งนี้  ไม่ว่าหนี้ดังกล่าวจะถึงกำหนดชำระแล้วหรือไม่ก็ตาม
ดังนั้น  การที่เจ้าหนี้นำคดีมาฟ้องต่อศาลเพื่อให้ทายาทของลูกหนี้รับผิดตามสัญญาเช่าซื้อหรือหนี้อื่นๆ  โดยมีเจ้ามรดกหรือผู้ตายเป็นผู้เช่าซื้อ  อันดับแรกที่ต้องตรวจสอบดูว่า  คดีดังกล่าวที่ท่านได้รับสำเนาคำฟ้องจากโจทก์หรือบริษัทไฟแนนซ์นั้น  มีระยะเวลาพ้นกำหนด  ๑  ปี  นับแต่ได้รู้หรือควรรู้ว่าเจ้ามรดกถึงแก่ความตายแล้วหรือไม่  หากปรากฏว่า  หนี้ดังกล่าวพ้นกำหนดระยะเวลา  ๑  ปี  แล้ว  หนี้ดังกล่าวย่อมขาดอายุความ  เจ้าหนี้ไม่สามารถเรียกร้องหนี้ดังกล่าวจากทายาทของลูกหนี้ได้อีกต่อไป  ข้อกฎหมายดังกล่าว  ส่งผลให้คดีของท่านสามารถชนะคดีของบริษัทไฟแนนซ์ได้ แต่การต่อสู้เรื่องขาดอายุความนั้น  ในทางคดีแพ่งเป็นข้อเท็จจริงที่ต้องว่ากล่าวไว้เป็นประเด็นในคำให้การ  ซึ่งท่านจะต้องต่อสู้คดีไว้ด้วย  ฉะนั้น ท่านต้องว่าจ้างทนายความเพื่อทำการต่อสู้คดีให้แก่ท่านต่อไป 
หลักกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา 1754  ห้ามมิให้ฟ้องคดีมรดกเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปี นับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย หรือนับแต่เมื่อทายาทโดยธรรมได้รู้ หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก
วรรคสอง  คดีฟ้องเรียกตามข้อกำหนดพินัยกรรม มิให้ฟ้องเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่เมื่อผู้รับพินัยกรรมได้รู้หรือควรได้รู้ถึงสิทธิซึ่งตนมีอยู่ตามพินัยกรรม
วรรคสาม  ภายใต้บังคับแห่งมาตรา 193/27 แห่งประมวลกฎหมายนี้ ถ้าสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้อันมีต่อเจ้ามรดกมีกำหนดอายุความยาวกว่าหนึ่งปี มิให้เจ้าหนี้นั้นฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่เมื่อเจ้าหนี้ได้รู้ หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก
วรรคสี่  ถึงอย่างไรก็ดี สิทธิเรียกร้องตามที่ว่ามาในวรรคก่อน ๆ นั้น มิให้ฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนดสิบปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย

            คำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14516/2558 โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ผู้มีสิทธิเรียกร้องอันมีต่อ อ. เจ้ามรดก ฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ อ. ซึ่งมีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายในการจัดการมรดกโดยทั่วไปหรือเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดกดังกล่าวให้รับผิดตามสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ที่เจ้ามรดกทำไว้กับโจทก์ซึ่งต้องฟ้องภายในกำหนด 1 ปี นับแต่เมื่อได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม หาได้เป็นกรณีที่โจทก์ในฐานะเจ้าของทรัพย์สินใช้สิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ที่ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ไม่ เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงตามคำฟ้องของโจทก์ในคดีหมายเลขดำที่ 7824/2550 หมายเลขแดงที่ 2979/2551 ของศาลชั้นต้นที่นำมาผูกรวมกับคดีนี้ว่า โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้กองมรดกรู้ถึงความตายของ อ. ตั้งแต่วันที่ 28 สิงหาคม 2549 เมื่อนับแต่วันดังกล่าวจนถึงวันที่โจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 26 มิถุนายน 2551 จึงพ้นกำหนด 1 ปี คดีเป็นอันขาดอายุความ

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบรถที่เช่าซื้อคืนโจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนเป็นเงิน 707,680 บาท แก่โจทก์ และให้ร่วมกันชำระค่าเสียหายเป็นเงิน 92,820 บาท กับค่าเสียหายอีกเดือนละ 2,730 บาท หรือวันละ 91 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้ร่วมกันชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 800,500 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติในเบื้องต้นว่า นายอานนท์ ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์หมายเลขทะเบียน กย 9754 เชียงใหม่ จากโจทก์ ราคาเช่าซื้อ 772,542 บาท ตกลงแบ่งชำระค่าเช่าซื้อเป็นรายเดือนรวม 60 งวด งวดละ 12,875.70 บาท เริ่มผ่อนชำระงวดแรกวันที่ 10 เมษายน 2548 และงวดถัดไปทุกวันที่ 10 ของเดือน มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม นายอานนท์ผิดนัดโดยไม่ผ่อนชำระค่าเช่าซื้อตามสัญญา โจทก์มีหนังสือทวงถามและบอกเลิกสัญญาแล้ว นายอานนท์ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2548 ต่อมาวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2549 ศาลมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนายอานนท์ ตามสำเนาคำสั่งศาลจังหวัดลำปาง ก่อนฟ้องคดีนี้ โจทก์เคยฟ้องนางสมหวัง ในฐานะทายาทโดยธรรมของนายอานนท์และจำเลยที่ 2 คดีนี้ต่อศาลชั้นต้นให้ร่วมกันรับผิดตามสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันต่อโจทก์ แต่ระหว่างพิจารณา โจทก์ขอถอนฟ้อง เนื่องจากศาลมีคำสั่งตั้งให้นายถิน เป็นผู้จัดการมรดกของนายอานนท์จึงไม่ประสงค์จะดำเนินคดีกับจำเลยทั้งสองต่อไป ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ ตามคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 7824/2550 หมายเลขแดงที่ 2979/2551 ของศาลชั้นต้นที่นำมาผูกรวมกับคดีนี้
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า โจทก์มีนายจรัญ ผู้รับมอบอำนาจช่วงของโจทก์ซึ่งทำหน้าที่จัดเตรียมรวบรวมเอกสารและเร่งรัดหนี้สินเป็นพยานเบิกความเพียงว่าจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายอานนท์ผู้เช่าซื้อซึ่งผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อ และเป็นผู้ครอบครองรถยนต์ที่เช่าซื้ออยู่โดยมิชอบจึงมีหน้าที่และความรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้อง โดยไม่มีพยานหลักฐานอื่นใดมาสนับสนุนให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ครอบครองรถยนต์ที่เช่าซื้อ ทั้งยังปรากฏข้อเท็จจริงตามคำฟ้องและแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎรเอกสารท้ายฟ้องว่านายอานนท์มิได้พักอาศัยหรือมีภูมิลำเนาแห่งเดียวกันกับจำเลยที่ 1 โดยนายอานนท์อยู่บ้านเลขที่ 78 หมู่ที่ 8 ตำบลพิชัย อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง ส่วนจำเลยที่ 1 อยู่บ้านเลขที่ 134 หมู่ที่ 6 ตำบลบ้านเสด็จ อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง ประกอบกับจำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธว่าไม่เคยเห็นรถยนต์ที่เช่าซื้อ เมื่อได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ของโจทก์ว่าให้ชำระค่าเช่าซื้อแทนนายอานนท์ จำเลยที่ 1 แจ้งกลับไปว่าไม่มีเงินชำระหนี้และไม่สามารถคืนรถยนต์ที่เช่าซื้อให้ได้เนื่องจากไม่เคยเห็นมาก่อนอันเป็นการยืนยันต่อโจทก์ว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้ครอบครองรถยนต์ที่เช่าซื้อไว้ พยานหลักฐานของโจทก์จึงไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะรับฟังว่ารถยนต์ที่เช่าซื้ออยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ 1 ตามคำฟ้องของโจทก์เป็นกรณีที่โจทก์ในฐานะเจ้าหน้าหนี้ผู้มีสิทธิเรียกร้องอันมีต่อนายอานนท์เจ้ามรดกฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายอานนท์ซึ่งมีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายในการจัดการมรดกโดยทั่วไปหรือเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดกดังกล่าวให้รับผิดตามสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ที่เจ้ามรดกทำไว้กับโจทก์ซึ่งต้องฟ้องภายในกำหนด 1 ปี นับแต่เมื่อได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคสาม หาได้เป็นกรณีที่โจทก์ในฐานะเจ้าของทรัพย์สิน ใช้สิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ที่ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ตามมาตรา 1336 ไม่ เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงตามคำฟ้องของโจทก์ในคดีแพ่ง หมายเลขดำที่ 7824/2550 หมายเลขแดงที่ 2979/2551 ของศาลชั้นต้นที่นำมาผูกรวมกับคดีนี้ว่า โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้กองมรดกรู้ถึงความตายของนายอานนท์ตั้งแต่วันที่ 28 สิงหาคม 2549 เมื่อนับแต่วันดังกล่าวจนถึงวันที่โจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 26 มิถุนายน 2551 จึงพ้นกำหนด 1 ปี คดีเป็นอันขาดอายุความ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนให้ยกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

 

ท่านสามารถอ่านบทความเกี่ยวข้องกับบทความนี้ได้ที่ลิงค์ข้างล่างนี้

-หากศาลตั้งผู้จัดการมรดกหลายคน คนใดตายจะต้องดำเนินการอย่างไร

-พินัยกรรมห้ามโอนทรัพย์มรดก

- สิทธิและหน้าที่ของผู้จัดการมรดก

- เมื่อลูกหนี้ตายเจ้าหนี้จะฟ้องทายาทลูกหนี้รับผิดได้หรือไม่

-ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินเกินส่วนของตน